ประวัติ หลวงพ่อโสธร วัดโสธรวรารามวรวิหาร
(วัดหลวงพ่อโสธร)
อันบุญบารมีอภินิหารความศักดิ์สิทธิ์ เป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่ใครๆ จะปฏิเสธไม่ได้เลย และจะแข่งขันให้เท่าเทียมกันนั้นก็ได้ยาก จะมีบ้างก็บางสถานที่ บางท่านบางคนทั้งยังเป็นสิ่งที่เหนือเหตุผลของการพิสูจน์ ดังที่พระพุทธองค์ตรัสว่า สิ่งมหัศจรรย์นั้นเป็นอจินตัยไม่ควรคิดค้นหาเหตุผล ความศักดิ์สิทธิ์อภินิหารจะดลบันดาลให้เกิดมีเฉพาะผู้มีบุญวาสนา และผู้เลื่อมใสศรัทธาเชื่อมั่นเท่านั้น หลวงพ่อโสธรองค์หนึ่งที่ทรงอานุภาพศักดิ์สิทธิ์มีอภินิหารเป็นพระพุทธรูปที่ทรงอานุภาพศักดิ์สิทธิ์ เป็นมิ่งขวัญของชาวจังหวัดฉะเชิงเทรา และเป็นที่รู้จักเคารพบูชาของประชาชนทั้งหลาย หลวงพ่อโสธร เป็นพระพุทธรูปที่หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ หน้าตักกว้างประมาณ 1 ศอกเศษ ปรางค์ขัดสมาธิเพชร แต่ได้เสริมแต่งขึ้นจากเดิมโดยพอกปูนลงลักปิดทองให้เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ หน้าตักกว้าง 3ศอก 5 นิ้ว พระเนตรเนื้อเลียนแบบพระสมัยลานช้าง หรือเรียกกันสามัญว่า “พระลาว” ซึ่งพระชนิดนี้มีชื่อว่าวัดหงษ์
โดยที่วัดนี้มีเสาใหญ่ มีหงษ์เป็นเครื่องหมายติดอยู่กับยอดเสา วัดนี้ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำบางปะกงด้านทิศตะวันตก สถานที่ตั้งวัดแต่ดั้งเดิมนั้น เวลานี้ถูกน้ำเซาะพังเป็นแม่น้ำไปหมดแล้ว วัดนี้ใครเป็นผู้สร้างและสร้างขึ้นในสมัยใดไม่ปรากฏ แต่ได้ความว่าเป็นวัดเก่าแก่สร้างมานานแล้ว ต้นเหตุที่วัดนี้ได้ชื่อว่า โสทรหรือ โสธร นั้นเล่ากันว่ากาลต่อมาหงษ์ใหญ่ที่ติดอยู่บนยอดเสานั้น พลัดตกลงมาหักทำลายคงเหลือแต่เสา จึงได้เอาผ้าผืนใหญ่ทำเป็นธงขึ้นไปแขวนไว้บนยอดเสาแทนหงษ์ประชาชนก็เลยเรียกชื่อตามนิมิตเครื่องหมายนั้นว่า วัดเสาธง นานมาเสาธงนี้ได้ถูกลมพายุพัดหักโค่นลงมาเป็น 2 ท่อน ชาวบ้านก็เลยถือเอานิมิตที่เสาธงหักเป็นท่อนนั้นตั้งเป็นชื่อวัดว่า “วัดเสาทอน” อยู่สิ้นกาลช้านาน จวบจนถึงสมัยที่มีพระพุทธรูป 3 องค์ พี่น้องล่องลอยน้ำมาจากเหนือ และในจำนวนพระพุทธรูป 3 องค์ นั้นได้อาราธนาอัญเชิญขึ้นมาประดิษฐานไว้ที่วัดนี้ 1 องค์ คือ หลวงพ่อโสธร และปรางหลังครั้งหลังก่อนหลวงพ่อโสธรจะมีชื่อเรียกมาอย่างไรไม่มีใครทราบ
เมื่อได้หลวงพ่อมาไว้สักการะบูชาแล้ว ก็ได้มีท่านผู้รู้ออกความเห็นว่า วัดนี้ยังเรียกชื่อวัดกันไม่แน่นอน จึงพร้อมใจกันเปลี่ยนชื่อวัดเสียใหม่ว่า “วัดโสทร” อันหมายความว่า วัดพระ 3 องค์ พี่น้องร่วมอุทรเดียวกัน เมื่อเปลี่ยนเป็นชื่อวัดโสทรแล้ว หมู่บ้านและคลองที่ขึ้นอยู่กับวัดนี้ก็ได้นามเปลี่ยนตามวัดไปด้วย เดิมทีเดียววัดนี้ใช้ตัวหนังสือเขียนว่า “โสทร” ไม่ได้เขียนว่า “โสธร” ดังปัจจุบันนี้ แต่เนื่องด้วยพระพุทธรูปที่ได้มาคือหลวงพ่อโสธรนั้น มีอานุภาพและความศักดิ์สิทธิ์ที่ปรากฏ และรูปทรงท่านสวยงามมาก จึงได้เขียนและชื่อวัดว่า “วัดโสธร” ซึ่งมีความหมายว่า “พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์” มาจนทุกวันนี้
คำว่า “โสธร” นี้มีพระอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิให้ความเห็นว่า เป็นนามที่ศักดิ์สิทธิ์ (โส) เป็นอักขระสำเร็จรูป ป้องกันทุกข์โศกโรคภัยได้ทั้งปวง (ธ) นั้นเป็นพยัญชนะอำนาจ มีตบะเดชานุภาพ (ร) เป็นอักษรมหานิยมเป็นที่ชื่นชมของเทวดาและมนุษย์
เมื่อ พ.ศ.2458 สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรสพระสังฆราชเสด็จมาตรวจการคณะสงฆ์ที่วัดโสธร ทรงสันนิษฐานว่า ผู้ที่ให้ชื่อวัดนี้ไม่ใช่คนที่ไม่รู้ เพราะเป็นนามที่ไพเราะทั้งแปลก็ได้ใจความดังนี้ หลวงพ่อโสธรมาประดิษฐานอยู่ที่วัดโสธรนานเท่าใด ไม่มีใครทราบได้แน่นอนพอจะมีเค้าตามคำบอกเล่าอันเกี่ยวโยงถึง หลวงพ่อวัดบ้านแหลมจังหวัดสมุทรสงครามและหลวงพ่อโต วัดบางพลีใหญ่ใน จังหวัดสมุทรปราการว่า เป็นพระพุทธรูปที่ลอยน้ำมาด้วยกัน และเป็นพระพี่น้องกันและชาวบ้านแหลมได้อัญเชิญหลวงพ่อวัดบ้านแหลมขึ้นจากน้ำเมื่อ พ.ศ.2313 จึงคาดคะเนเอาว่าหลวงพ่อก็คงมาประดิษฐานอยู่ที่วัดโสธรราว พ.ศ.2313 หรือก่อนนั้นก็ไม่แน่นัก
ประวัติความเป็นมาของหลวงพ่อโสธรนี้มีผู้เล่าสืบ ๆ กันมาหลายกระแส ได้สอบถามผู้เฒ่าผู้แก่หลายคน ซึ่งท่านเหล่านั้นก็ได้รับฟังมาจากบรรพบุรุษเล่าให้ฟังต้องกันว่า “หลวงพ่อโสธร” ลอยน้ำมาตามคำว่า มีพระพี่น้องชายกัน 3 องค์ อยู่ทางเมืองเหนือแสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหารย์ล่องลอยมาตามแม่น้ำจากทางทิศเหนือ เรื่อยมาจามลำแม่น้ำเจ้าพระยา ในที่สุดมาผุดขึ้นใน แม่น้ำบางปะกง ณ ที่ตำบลหนึ่ง และแสดงปาฏิหารย์ลอยทวนกระแสน้ำให้ประชาชนเห็นทั้ง 3 องค์ ประชาชนแถบนั้นต่างพร้อมใจกันอาราธนาเอาเชือกพรวนมนิลาลงไปผูกมัดที่องค์หลวงพ่อทั้ง 3 แล้วช่วยกันฉุดลากขึ้นฝั่งด้วยจำนวนผู้คนประมาณ 500 กว่าคนก็ฉุดขึ้นไม่ได้ เชือกขนาดใหญ่ที่ผูกองค์หลวงพ่อทั้ง 3 ก็ขาดฉุดไม่สำเร็จตามความประสงค์ ครั้นแล้วหลวงพ่อทั้งสามองค์ก็จมน้ำหายไปต่อหน้าคนทั้งหมด สถานที่พระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ ได้ลอยทวนน้ำมานั้นเลยได้ชื่อว่า “ตำบลสามพระทวน” แต่ต่อมากลับเรียกว่า สัมปทวน ได้แก่แม่น้ำหน้าวัดสมปทวน อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา ทุกวันนี้
ต่อจากนั้นพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ ก็ล่องลอยตามแม่น้ำบางปะกง เลยผ่านหน้าวัดโสธรไปถึงคุ้งน้ำใต้วัดโสธร แสดงอภินิหารผุดขึ้นให้ชาวบ้านบางนั้นเห็น ชาวบ้านได้ช่วยกันอาราธนาฉุดขึ้นฝั่งทำนองเดียวกันกับชาวสัมปทวน แต่ก็ไม่สำเร็จหมู่บ้านบางนั้นจึงได้ชื่อว่า บางพระ มาจนทุกวันนี้ จากนั้นพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ก็ล่องลอยทวนน้ำขึ้นมาถึงและลอยวนอยู่ที่หัวเลี้ยว ตรงกองพันทหารช่างที่ 2 ปัจจุบัน สถานที่พระพุทธรูปทั้ง 3 องค์มาลอยวนอยู่นั้นจึงเรียกกันว่า แหลมหัววน และได้จมน้ำหายไปหลังจากนั้นพระพุทธรูปองค์พี่ใหญ่ ได้แสดงอิทธิฤทธิ์ปฏิหาริย์ ล่อยลอยไปผุดขึ้นที่ลำน้ำแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม ประชาชนชาวประมงอาราธนาขึ้นได้ และประดิษฐานเป็นมิ่งขวัญอยู่ที่วัดบ้านแหลมเราเรียกว่า หลวงพ่อวัดบ้านแหลม ทุกวันนี้เป็นที่บูชานับถือกันว่าเป็นพระที่ศักดิ์สิทธิ์ทัดเทียมกับหลวงพ่อโสธร ส่วนองค์สุดท้องได้แสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหารย์ลอยล่องไปผุดขึ้นที่ปากคลองสำโรง ชาวบ้านแถบนั้นได้อาราธนาขึ้นแพใช้เรือพายลายจูง ทั้งอธิษฐานว่าจะขึ้นเป็นมิ่งขวัญที่ใด ก็ขอให้แพนั้นจงหยุดอยู่กับที่ แล้วล่องมาตามลำคลองแพนั้นก็มาหยุดอยู่หน้าวัดบางพลีใหญ่ใน จังหวัดสมุทรปราการ ชาวบางพลีก็ได้อาราธนาอัญเชิญขึ้นประดิษฐานอยู่ทีวัดบางพลีใหญ่ใน ก็ปรากฏว่ามีผู้คนเคารพเลื่อมใสมากมายทัดเทียมกับหลวงพ่อวัดบ้านแหลม และหลวงพ่อโสธร ส่วนพระพุทธรูปองค์กลาง คือ หลวงพ่อโสธร เมื่อลอยตามน้ำมาจากหัววนดังกล่าวแล้ว ก็มาผุดขึ้นที่ท่าหน้าวัดโสธร
กล่าวกันว่าประชาชนจำนวนมากทำการฉุดลากขึ้นโดยได้มีอาจารย์ผู้มีความรู้ทางไสยศาสตร์กระทำตามพิธีการอันถูกต้อง แล้วเอาด้านสายสิญจน์คล้องกับพระหัตถ์หลวงพ่อโสธรอัญเชิญขึ้นมาบนฝั่ง นำมาประดิษฐานในวิหารสำเร็จตามความประสงค์ แล้วก็จัดให้มีการฉลองสมโภช และให้นามหลวงพ่อว่า หลวงพ่อโสธร องค์หลวงพ่อโสธรจริง ๆ นั้นในสมัยที่ลองลอยน้ำมาเดิม เป็นพระพุทธรูปที่หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ปางสมาธิเพชร หน้าตักกว้างประมาณ 1 ศอกเศษ รูปทรงสวยงามมาก
ต่อมาพระสงฆ์ในวัดเห็นว่ากาลต่อไปภายหน้าฝูงคนที่มีตัณหาและความโลภแรงกล้ามีอัธยาศัยเป็นบาปลามกไม่มีความศรัทธาเลื่อมใส จักนำไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวจะไม่เป็นการปลอดภัย จึงพอกปูนเสริมให้ใหญ่หุ้มองค์จริงไว้ภายในดังปรากฏที่เห็นในปัจจุบันนี้
สถานที่วัดโสธรตั้งอยู่เดิมภายแรกนั้น ทางบกเป็นป่ามีหมู่บ้านคนน้อยมาก การคมนาคมไม่ค่อยสะดวก เมื่อหลวงพ่อโสธรมาประดิษฐานอยู่ที่วัดโสธรแล้ว ประชาชนชาวเรือนับถือว่า ถ้าได้บอกขอต่อหลวงพ่อโสธรแล้ว สินค้าก็ซื้อง่ายขายคล่องเป็นเทน้ำเทท่า เรือแพที่ผ่านไปมาในแม่น้ำพอถึงที่ตรงกับโบสถ์หลวงพ่อโสธรแล้ว ผู้ที่นิยมนับถือและเห็นความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อโสธร ก็วักเอาน้ำในแม่น้ำซึ่งนับถือว่าเป็นน้ำมนต์หลวงพ่อดื่มบ้าง ลูบศีรษะบ้าง ล้างหน้าประพรมเรือสินค้าในเรือ ดังได้เห็นกันอยู่ทุกวันนี้ ครั้นต่อมาการคมนาคมทางบกสะดวกขึ้น จึงมีผู้คนไปนมัสการหลวงพ่อกันมากขึ้น ผู้ใดเจ็บป่วยก็มาขอความคุ้มครองจากหลวงพ่อโสธร และก็ได้รับสมความปรารถนาเป็นส่วนมาก กิติศัพท์ความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อโสธรได้แผ่ไพศาลไปในถิ่นต่าง ๆ มูลเหตุที่มีงานสมโภชนั้น
เล่ากันว่า สมัยหนึ่งบ้านโสธรเกิดข้าวยากหมากแพง ฝนแล้งข้าวกล้าในนาเหี่ยวแห้งตาย สัตว์พาหนะเกิดโรคระบาด ผู้คนทั้งเด็กและผู้ใหญ่เป็นโรคฝีดาษล้มเจ็บลงตามกัน ผู้ที่พอหนีได้ก็ทิ้งสมบัติบ้านเรือนหนีเอาตัวรอด ผู้ที่ป่วยไปไม่ไหวก็นอนรอวันตายของตนอยู่ ในกาลนั้นยังมีบุรุษหัวหน้าครอบครัว ๆ หนึ่งก็ได้เป็นโรคนี้ เมื่อเห็นว่าไม่มีคนที่พอจะเป็นที่พึ่งกันได้ ก็เลยหันหน้าเข้าพึ่งสรณะนมัสการอธิษฐานบนบานขอความคุ้มครองรักษาจากหลวงพ่อ โสธรในวิหาร รับเอายาดีของหลวงพ่อโสธรมา 3 อย่าง คือ ขี้ธูป 1 ดอกไม้เหี่ยวแห้งที่บูชาแล้ว 1 และน้ำมนต์จากหลวงพ่อโสธร 1 เอามาต้มกินทาอาบทั่วสรรพางค์กาย ปรากฏว่าได้ผลสมปรารถนา โรคภัยต่าง ๆ หายเป็นปกติด้วยความดีใจที่โรคหายสมประสงค์จึงจัดให้มีการสมโภชแก้บนถวายหลวงพ่อแต่นั้นมา กิติศัพท์ความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อโสธร ก็แพร่ไปทั่วในถิ่นต่าง ๆ กว้างขวางมากยิ่งขึ้นจนเป็นที่เลื่องลือนับถือบูชาว่าหลวงพ่อโสธรศักดิ์สิทธิ์ ผู้ใดปรารถนาสิ่งใดที่ชอบธรรม ท่านก็ประสิทธิ์ประสาทให้สมประสงค์ การสมโภชแก้บนจึงมีขึ้นตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
มีพระบรมราชวินิจฉัยเกี่ยวกับหลวงพ่อโสธร ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อคราวเสด็จประพาสจังหวัดฉะเชิงเทรา พ.ศ. 2451 ไว้ดังนี้
“กลับมาแวะวัดโสธร” ซึ่งกรมหลวงดำรงคิดจะแปลว่า ยโสธรจะให้เกี่ยวข้องแก่การที่ได้สร้าง เมื่อเสด็จกลับจากการไปตีเขมร แผ่นดินพระบรมไตรโลกนาถ หรือเมื่อใดนั้นเป็นที่สงสัยด้วยเห็นไม่ถนัด พระพุทธรูปทำด้วยศิลาแลงทั้งนั้น องค์ที่สำคัญว่าเป็นหมดดีนั้น คือ องค์ที่อยู่กลาง ดูรูปตักและเอวงามเป็นทำนองเดียวกันกับพระพุทธรูปเทวปฏิมากร แต่ตอนบนกลายเป็นด้วยฝีมือผู้ปั้นไปว่า ลอยน้ำมาก็เป็นความจริงเพราะเป็นศิลาคงจะไม่ได้ทำในที่นี้”
อานุภาพความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อโสธร มีมากเหลือที่จะเล่าสู่กันฟังให้หมดได้ เพราะหลวงพ่อโสธรเปรียบเสมือนเป็นต้นโพธิ์ไทรอันใหญ่ ให้สรรพสัตว์ได้พำนักอาศัย หลวงพ่อโสธรเป็นร่มใหญ่กางกั้นสรรพภัยอันตราย ความเดือดร้อนลำเค็ญให้สรรพสัตว์ได้อยู่เย็นเป็นสุข เป็นแพทย์วิเศษพยาบาลผู้อาพาธให้หายขาดไม่กลับคืน เป็นสรณะที่พึ่งพิงของหมู่บริษัทที่ถูกภัยคุกคามเป็นนิธิบ่อบุญกุศลของทายกทายิกาผู้ใฝ่หาบุญกุศลเป็นหมอดูพยากรณ์ทายโชคชะตาวาสนาทั้งอดีต อนาคต ปัจจุบัน ให้ทุกท่านผู้ต้องการทราบหลวงพ่อเป็นสัพพัญญูสำเร็จวิชาทุกอย่างทั้งทางโลกและทางธรรม เป็นบรมครูของเทวดาและมนุษย์ไม่มีผู้ใดยิ่งไปกว่าหลวงพ่อ
งานนมัสการหลวงพ่อโสธร
หลวงพ่อโสธรเป็นพระศักดิ์สิทธิ์ มีประชาชนพุทธบริษัททั้งใกล้และไกลเป็นที่นับถือ และที่ผู้ไปนมัสการไม่ขาด ทางวัดจึงจัดให้มีงานเทศกาลฉลององค์หลวงพ่อปีหนึ่งมีสองครั้ง คือ
1. งานเดือน 5 เรียกว่างานกลางเดือน 5 เริ่มงานตั้งแต่วันขึ้น 14-15 ค่ำ ถึงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 5 รวม 3 วัน
2. งานเดือน 12 เรียกว่างานกลางเดือน 12 เริ่มงานตั้งแต่วันขึ้น 12 ค่ำ เดือน 12 ถึงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 12 รวม 5 วัน
คำอาราธนาหลวงพ่อโสธร
กายานะ วาจายะวะ วาโสธะรัง
นามะ อิติปาริหะ ริยะกาง
พุทธธะรูปัง อะหังปิ